อัพเดตรายงานผลการวิจัยเบื้องต้นในการศึกษาความปลอดภัยและการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ในผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบสองเข็ม

หลังจากรับวัคซีนซิโนแวคครบสองเข็ม เป็นระยะเวลา 8-12 สัปดาห์ ระดับภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีชนิด IgG เฉลี่ยอยู่ที่ 45-53 หน่วยต่อมิลลิลิตร

เมื่อได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม ด้วยไฟเซอร์ขนาดเต็มโดส (0.3 มิลลิลิตร) มีระดับแอนติบอดีชนิด IgG ขึ้นเฉลี่ย 5,723 หน่วยต่อมิลลิลิตร

เมื่อกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ขนาดครึ่งโดส (0.15 มิลลิลิตร) พบว่ามีระดับแอนติบอดีชนิด IgG ขึ้นเฉลี่ย 4,598 หน่วยต่อมิลลิลิตร ซึ่งสูงกว่าการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเทียบกับ 4-8 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ที่มีระดับแอนติบอดีชนิด IgG เฉลี่ยที่ 1,931.3 หน่วยต่อมิลลิลิตร

ส่วนการกระตุ้นเข็มสามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า พบว่ามีระดับแอนติบอดีชนิด IgG ขึ้นเฉลี่ย 1,599 หน่วยต่อมิลลิลิตร และการกระตุ้นเข็มสามด้วยวัคซีนซิโนฟาร์ม มีแอนติบอดีขึ้นเฉลี่ย 218.9 หน่วยต่อมิลลิลิตร

ผลต่อการยั้บยั้งสายพันธุ์เดลต้า

ไฟเซอร์ขนาดเต็มโดสมีระดับไตเตอร์สูงที่สุด (839.9)
รองลงมาเป็นวัคซีนไฟเซอร์ขนาดครึ่งโดส (531.8)
วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า (271.2)
และวัคซีนซิโนฟาร์ม (61.3)

จากผลการศึกษาเหล่านี้ สรุปว่า สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนซินโนแวคครบแล้ว 2 เข็ม หากได้รับวัคซีนไฟเซอร์ฉีดเป็นเข็มที่สาม กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงที่สุด หากได้วัคซีนไฟเซอร์ครึ่งโดสอาจจะเพียงพอได้ ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อยืนยันผลภูมิคุ้มกันที่ได้จากการศึกษานี้

ขณะนี้ทางศูนย์วิจัยคลินิกมีอีกหลายโครงการเกี่ยวกับโควิด-19 ที่กำลังดำเนินอยู่ เช่น การฉีดวัคซีนให้กับคนที่เคยติดเชื้อโควิดมาแล้ว การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์ ในเด็ก และการฉีดวัคซีนเข้าใต้หนัง (Intradermal) สำหรับประชาชนที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการวิจัยในอนาคต โปรดติดตามข่าวสารประชาสัมพันธ์เชิญชวนสมัครเข้าร่วมโครงการได้ จากทางศูนย์วิจัยคลินิก SICRES คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 02-414-1914  www.sicres.org